ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ข่าวที่สร้างความวิตกให้กับพวกเราชาวกินขนมเป็นอาชีพ (555) ไม่น้อย คือ ข่าวการปนเปื้อนสารเมลามีนในขนมและนม มีการเรียกเก็บขนมที่นำเข้าหรือมีส่วนผสมของนมจากประเทศจีนไปตรวจสอบกันวุ่นวายเลยนะคะ แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า "เมลามีน" คืออะไร?
เมลามีนคืออะไร
เมลามีน (Melamine) เป็นสารอินทรีย์เคมี โดยทั่วไปพบในรูปของผลึกสีขาว ละลายน้ำได้เล็กน้อย มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 66 มีชื่อทางเคมีคือ 1,3,5-triazine-2,4,6-triamine ในปัจจุบันการผลิตสารเมลามีนจะใช้ยูเรีย (Urea) เป็นวัตถุดิบ ซึ่งยูเรียจะแตกตัวออกได้เป็นสารเมลามีน แอมโมเนีย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการใช้เมลามีนในเรื่องใดบ้าง
เมื่อเอาเมลามีนมาผสมกับฟอร์มาลดีไฮด์ จะได้เป็นเมลามีนซิน (Melamine resin) เป็นพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน มีความทนทาน มีการนำมาใช้ในผลิตโฟมทำความสะอาดพื้นผิว แผ่นฟอร์ไมกา กาว จาน ชาม ไวท์บอร์ด เป็นต้น
หากกินอาหารที่ปนเปื้อนเมลามีนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร
ตัวเมลามีนเดี่ยวๆ มีความเป็นพิษต่ำมาก ไม่เป็นพิษต่อสารก่อพันธุกรรม แต่เมื่อให้ในปริมาณสูงก็ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะในหนูทดลอง เนื่องจากเมลามีนทำให้เกิดก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ตัวก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา กระตุ้นให้เกิดก้อนมะเร็ง ตัวเมลามีนเองไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง แต่ก็ถือเป็นตัวการทางอ้อม แต่ถ้าเมลามีนเกิดไปเจอกับกรดไซยานูริก (Cyanuric acid) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ผลิตจากยูเรียเช่นเดียวกับเมลามีน และอาจมีการปนเปื้อนมากับเมลามีน หรือมีการผสมไปกับอาหารหรืออาหารสัตว์เพื่อเพิ่มโปรตีน ก็จะเกิดผลึกเมลามีนไซยานูเรต (Melamine cyanurate) ซึ่งเป็นผลึกที่ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้เกิดนิ่วในไต ก้อนผลึกเล็กๆ จะอุดตันท่อในไต ทำให้ไม่สามารถผลิตปัสสาวะได้ ส่งผลให้ไตวายและทำให้เสียชีวิตได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าได้รับพิษจากเมลามีน
อาการที่อาจบอกได้ว่าได้รับพิษจากเมลามีน คือ อาการระคายเคือง มีเลือดในปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย อาการไตอักเสบ ความดันโลหิตสูง
จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบให้ปลอดภัยได้อย่างไร
อย. มีการควบคุมการผลิตและนำเข้าอาหารอย่างเข้มงวด อาหารที่ผลิตภายในประเทศต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์จีเอ็มพี และมีการขึ้นทะเบียน มีเครื่องหมาย อย. อาหารที่นำเข้าก็ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด และต้องได้รับอนุญาตมีเครื่องหมาย อย. ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารขอให้ดูที่ฉลากเป็นลำดับแรก ว่ามีการแสดงแหล่งประเทศที่ผลิต มีเครื่องหมาย อย. ดูความเรียบร้อยและสมบูรณ์ของภาชนะที่บรรจุว่าสะอาด ไม่มีร่องรอยรั่ว ฉีกขาด ซึ่งจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ได้ และดูสภาพการเก็บรักษา ไม่มีการวางปะปนกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย และเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อนมผงที่มีลักษณะของการตักแบ่งขาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกรรมการอาหารและยา (อย.)
วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น