วันพ่อ แห่งชาติ มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2523 โดย คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม ด้วยความจงรักภักดี และมีวัตถุประสงค์ เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะ “พ่อแห่งชาติ”
ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น “พ่อแห่งชาติ” ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้วัฒนาถาวรสืบไป
วันที่ 5 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น “วันชาติของไทย” อีกด้วย
โดยทั่วไป “วันชาติ” มักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้นๆได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง “วันชาติ” ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศโมร็อกโก ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม สหรัฐอเมริกา ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม ฝรั่งเศสตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม อินโดนีเซียตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม บราซิลตรงกับวันที่ 7 กันยายน และเคนย่าตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม เป็นต้น
ความเป็นมา
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม หลักการและเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อ เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบ แทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ อีกทั้งยังทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและ พระราชธิดาที่ทรงรักใคร่ห่วงใย ตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน และพระเจ้าหลานเธอทุก ๆ พระองค์ต่างซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น "พ่อ" ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระ เมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออร์เบินณ์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงมีพระเชษฐาธิราช (พี่ชาย) และพระเชษฐภคินี (พี่สาว) 2 พระองค์คือ 1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงค์สิกิติ์ กิติยากร (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนารถ) ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ คือ 1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี 2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร 3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)